จุดเริ่มต้นของการจัดการของเสีย

จุดเริ่มต้นของการจัดการของเสียอุตสาหกรรม และพัฒนาการต่อเนื่องถึงวันนี้ ปี 2563

 
เรียบเรียงโดย
 
นายปฏิการ มหัทธนารักษ์
 
อดีตประธานกลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรม (ปี พ.ศ. 2553-2555)

 

เมื่ออุตสาหกรรมของไทยได้มีการขยายตัวอย่างมากในยุคของนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัน นักลงทุนจากญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อหนีปัญหาค่าเงินเยนแข็งตัว กรมโรงงานอุตสาหกรรมเล็งเห็นปัญหาที่กากของเสียจากอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นอย่างมากในอนาคตและยังไม่มีการจัดทำแผนเพื่อรับกำจัดอย่างถูกวิธี จึงได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในการทำหลุมฝังกลบของเสียที่ถูกหลักวิชาการและไม่ก่อปัญหาผลกระทบ โดยกรมโรงงานฯ ก็เข้ามีส่วนร่วมในการลงทุนด้วย ผู้ลงทุนได้เลือกพื้นที่ใน อ.ปลวกแดง ในการก่อสร้างหลุมฝังกลบ แต่ประชาชนในพื้นที่ต่างเกรงจะมีปัญหาผลกระทบในภายหลังจึงต่อต้านและไม่อนุญาตให้สร้างในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ทำให้โครงการลงทุนนี้ต้องล่าช้าจากปี พ.ศ. 2537 มาถึงปี พ.ศ. 2540 และต้องย้ายมาใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นพื้นที่สร้างหลุมฝังกลบ

การรับของเสียจากภาคอุตสาหกรรมจึงได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 โดยทางกรมโรงงานฯ ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 6 (2540) และฉบับที่ 1 (2541) เพื่อกำหนดระเบียบการกำจัดของเสียและควบคุมวิธีการรับกำจัด ในระยะแรกนี้ผู้รับกำจัดมีเพียงหลุมฝังกลบเท่านั้น ในขณะที่ของเสียที่ส่งให้กำจัดจำพวกของแหลวไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีฝังกลบได้ จึงมีของเสียจำพวกของเหลวที่เป็นทั้งน้ำมันและสารเคมีสะสมไว้จำนวนมาก

 

ยุคการรับกำจัดด้วยการเผาในเตาเผาปูนซีเมนต์

ในปี พ.ศ. 2542 ผู้บริหารบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ได้ริเริ่มการนำของเสียจำพวกน้ำมันใช้แล้วมาเผาในเตาเผาปูนซีเมนต์เพื่อประหยัดค่าเชื้อเพลิง โดยได้ศึกษาตัวอย่างจากโรงงานปูนซีเมนต์ในยุโรป ได้มีการขออนุญาตทดลองนำของเสียเข้าเผาและทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน จนถึงปี พ.ศ. 2544 ก็ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานฯ ให้รับของเสียที่เป็นของเหลวเข้าเผากำจัดร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ สามารถแก้ปัญหาของเสียที่เป็นของเหลวได้เกือบทั้งหมด

เมื่อโรงงานปูนซีเมนต์โรงแรกได้รับอนุญาตแล้ว โรงงานปูนซีเมนต์อื่นอีก 2 โรงในพื้นที่จังหวัดสระบุรีก็ได้ทำการศึกษา และดำเนินการจนได้รับอนุญาตให้รับของเสียเข้ากำจัดในเตาเผาปูนซีเมนต์เช่นกัน ทำให้ความสามารถในการรับกำจัดของเสียอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังได้มีการพัฒนานำของเสียที่เป็นของแข็งที่เผาไหม้ได้นำเข้าเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ด้วย

 

ยุคการขยายตัวของหลุมฝังกลบ

หลังจากที่เกิดหลุมฝังกลบแรกในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งรับของเสียที่เป็นวัสดุอันตราย (Hazardous Waste) ก็ได้มีผู้ลงทุนทำหลุมฝังกลบของเสียที่ไม่อันตรายขึ้น (Non Hazardous Waste) ในเวลาใกล้เคียงกันในจังหวัดสระบุรี และในเวลาต่อมาก็ได้ขยายธุรกิจโดยสร้างหลุมฝังกลบที่สามารถรับกำจัดของเสียอันตรายได้เช่นกัน

การดำเนินงานของหลุมฝังกลบในนิคมมาบตาพุดก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนต้องไปสร้างหลุมฝังกลบเพิ่มในพื้นที่ของกรมโรงงานฯ ในจังหวัดราชบุรี ในขณะเดียวกันก็ได้มีผู้ลงทุนสร้างหลุมฝังกลบของเสียอันตรายขึ้นอีกทั้งที่อำเภอสระแก้ว 1 ราย และสร้างหลุมฝังกลบสำหรับของเสียที่ไม่อันตรายขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน อีก 1 ราย ทำให้ในปี พ.ศ. 2545 ผู้ให้บริการรับกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการรับของเสียเกินจำนวนของเสียที่มี จึงเริ่มเกิดการแข่งขันการให้บริการมากขึ้นโดยลำดับ

 

ยุคการให้ใบอนุญาตประเภทคัดแยกของเสียและรีไซเคิล (105,106)

เมื่อการรับกำจัดของเสียได้ขยายตัวอย่างมากแล้ว ของเสียจำนวนมากที่ก่อนหน้าจะมีระเบียบและประกาศของกรมโรงงานฯ บังคับใช้ มีผู้ประกอบการที่ได้ทำการคัดแยกของเสียและของใช้แล้วเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และมีการนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อปรับปรุงคุณภาพให้นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่อยู่ก่อนแล้ว กรมโรงงานฯ จึงได้ออกประกาศกำหนดให้มีการขอใบอนุญาตประเภท 105 และ 106 ในปี พ.ศ. 2545 เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองของเสีย และการจัดการของเสียเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และถือว่าเป็นวิธีการจัดการที่ถูกหลักในระบบการจัดการของเสีย กล่าวคือจะต้องดำเนินการเพื่อใช้ซ้ำ (Reuse) หรือพัฒนาให้นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เสียก่อนจึงจะนำไปกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบ ใบอนุญาตประเภท 105 คือการอนุญาตให้รวบรวมเพื่อคัดแยกของเสียที่ไม่อันตราย เช่น กระดาษ, พลาสติก, แก้ว, โลหะ ฯลฯ นำไปจำหน่ายเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตใหม่ ส่วนประเภท 106 คือการนำของเสียที่คัดแยกแล้ว หรือนำไปคัดแยกและส่งเข้ากระบวนการผลิต เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถใช้ได้อีก

ในความเป็นจริง กิจกรรมการคัดแยกของเสียและการรีไซเคิลมีอยู่ก่อนหน้าที่จะมีการออกประกาศอนุญาต แต่เนื่องจากประกาศที่ออกมาก่อนหน้านี้ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำอยู่แล้วไม่สามารถทำต่อไปได้ จึงต้องมีการให้ใบอนุญาตเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อได้ และเป็นการนำผู้ประกอบการเข้าจดทะเบียนให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการที่มีการนำของเสียหรือของใช้แล้วมาปรับปรุงสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ผู้รวบรวมน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วเพื่อไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน, ผู้รวบรวมสารละลายใช้แล้วนำมา กลั่นเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก, ผู้รวบรวมแบตเตอรี่ใช้แล้วนำไปหลอมเอาโลหะนำกลับมาใช้ใหม่, ผู้รวบรวมเศษแก้วและกระจกและขวดเพื่อไปหลอมรวมในอุตสาหกรรมแก้ว, ผู้รวบรวมเศษโลหะ,พลาสติกและกระดาษ แล้วคัดแยกเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบได้อีก เหล่านี้เป็นต้น

 

การดำเนินงานที่กรมโรงงานฯ ได้ทำมาโดยลำดับ

ในปี พ.ศ. 2540 และ 2541 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการของเสียนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแล คือสำนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ดูแลมลภาวะทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และทางดิน สำนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้มีการศึกษาปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการจัดการกากอุตสาหกรรมและออกเป็นประกาศของกระทรวงอุตสาหรรมหลายฉบับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547, 2548 และ 2550 ตั้งแต่ที่กรมโรงงานฯ ได้อนุญาตให้มีใบอนุญาตประเภท 105,106 ในปี 2545-2547 ได้มีผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทจำนวนมากโดยเฉพาะประเภท 105 นั้นมีจำนวนหลายร้อยโรงงานจนถึงปัจจุบันมีโรงงานประเภท 105 ถึง 1,400 โรงงาน ส่วนประเภท 106 ก็มีเป็นหลักร้อยเช่นกันจนถึงปัจจุบันมีอยู่ 400 กว่าโรงงาน

จากการที่โรงงานรับจัดการของเสียเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากดังกล่าว ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรม ถูกยกระดับขึ้นเป็นสำนักงานใช้ชื่อว่า สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2548 เพื่อดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรมทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมาได้มีความร่วมมือระหว่างสำนักบริหารจัดการกากกับกลุ่มผู้ให้บริการกำจัดกากของเสียในสภาอุตสาหกรรมอย่างมาก ภาคเอกชนที่รวมตัวกันได้มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันให้การจัดการกากของเสียของประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และเทียบเคียงได้กับประเทศที่พัฒนาแล้วในวันนี้

 

ยุคกำเนิดกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในสภาอุตสาหกรรม

ในปลายปี พ.ศ. 2547 ได้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการประเภท 101, 105 และ 106 จัดตั้งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใช้ชื่อว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยรัฐสร้างกติกาและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดการของเสียให้เจริญก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของสังคม ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและจัดการกากของเสียตลอดจนขยะจากชุมชนและครัวเรือน

เพื่อให้บทบาทของกลุ่มเด่นชัดขึ้นในมุมมองของสังคมทั่วไป จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา นับแต่ที่มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะมีการยกระดับงานจัดการกากของเสียในกรมโรงงานฯ กลุ่มฯ ได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการยกระดับความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียและขยะชุมชนตลอดมาโดยได้ทำงานร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมฯ ในการยกระดับผู้ประกอบการให้มีคุณภาพและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น มีการให้ตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพการจัดการ ร่วมให้ข้อคิดเห็นในการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อการจัดการกากของเสียอย่างเหมาะสม กลุ่มฯ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ โดยเฉพาะเรื่องขยะชุมชนและขยะอันตรายทุกประเภท

 

ยุคการขยายผลการจัดการให้ครอบคลุมทั้งขยะชุมชนและกากของเสียอุตสาหกรรม

นับแต่ที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในปี พ.ศ. 2556 จนมาถึงการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 การขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมก็ลดน้อยลงไปมาก แต่ขยะชุมชนยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เทศบาลและอบต.ต่างๆ ไม่สามารถกำจัดด้วยการฝังกลบอย่างมีคุณภาพ รัฐบาลจากการรัฐประหารจึงได้ใช้อำนาจผลักดันการอนุญาตให้นำขยะไปกำจัดด้วยการเผาในเตาเผาที่สามารถควบคุมมลพิษจากการเผาไหม้ได้และนำความร้อนที่ได้ไปทำไอน้ำเพื่อปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า และกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนด้วยการจ่ายชดเชยค่าไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการลงทุน การลงทุนในเตาเผาขยะจึงได้เกิดขึ้นหลายโครงการ และกรมโรงงานก็ได้ถือโอกาสนี้ให้ใบอนุญาตแก่ผู้สนใจลงทุนเตาเผาขยะอันตรายจากอุตสาหกรรมด้วยเช่นกันหลายโรงงาน เพื่อให้การนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดด้วยการฝังกลบน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้งของชุมชนกับผู้ประกอบการหลุมฝังกลบ และยังทำให้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากอุตสาหกรรมถูกลงอีกด้วย หากมีการคัดแยกของเสียที่สามารถเผาไหม้ได้ออกไปกำจัดด้วยการเผาทำลาย นับว่าเป็นพัฒนาการสำคัญที่ทัดเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป

 

บทส่งท้าย

นับแต่ที่ภาครัฐมีดำริที่จะให้มีผู้ประกอบการรับกำจัดกากของเสียจากอุตสาหกรรมโดยให้เอกชนลงทุน และรัฐทำหน้าที่ออกกฎระเบียบควบคุมการปฏิบัติและทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนเพื่อจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการกับภารกิจนี้อย่างมีคุณภาพ แม้ว่าในยุคแรกเริ่มกรมโรงงานฯ พยายามที่จะผูกขาดกับภารกิจนี้ แต่ในช่วงนั้นประเทศกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้ง จึงมีพลังจากผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก กลุ่มการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในสภา-อุตสาหกรรม ได้มีบทบาทในการสร้างกติกาเพื่อลดทอนผู้ประกอบการที่ไร้คุณภาพ ปราศจากความรับผิดชอบ และยังได้มีบทบาทผลักดันการลงทุนในการกำจัดขยะชุมชน และขยะอันตรายอื่นๆ ในสังคม เช่น ขยะอิเลคโทรนิคส์ และของเสียเคมีวัตถุจากห้องทดลองและวิจัย บทบาทที่ยังจะต้องทำต่อไปคือ การหาผู้รับผิดชอบกับขยะที่มีต้นทุนในการกำจัดสูงแต่ไม่มีผู้สนับสนุนให้คุ้มค่าการลงทุน เช่น ขยะจากวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ไม่สามารถเผาได้และไม่คุ้มค่าแรงในการแยกวัสดุออกเพื่อทำลาย

 

ปฏิการ  มหัทธนารักษ์
16 มิถุนายน 2563